[รีวิว] Megalopolis – จดหมายทิ้งทวนจากผู้กำกับวัยเกษียณที่ยอมทุ่มสุดตัวเพื่อส่งสารแก่มวลประชา –

[รีวิว] Megalopolis – จดหมายทิ้งทวนจากผู้กำกับวัยเกษียณที่ยอมทุ่มสุดตัวเพื่อส่งสารแก่มวลประชา –

หลังจากฝ่าวิบากกรรมที่เป็นมรสุมรุมเร้าจนเกือบจะไม่ได้เกิด ในที่สุด Megalopolis ก็ออกสู่สายตาประชาชนได้สำเร็จ ผลงานจากผู้กำกับระดับตำนาน “ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า” (Francis Ford Coppola) เจ้าของผลงานขึ้นหิ้ง The Godfather ทั้งสามภาค และ Apocalypse Now (1979) ด้วยความที่ไม่มีสตูดิโอไหนยอมให้คอปโปล่าสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาจึงต้องขายกิจการโรงกลั่นไวน์และนำเงินที่ได้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งพูดได้เต็มปากว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ คอปโปล่าทุ่มสุดตัวสุดหัวใจเพื่อสร้างมันขึ้นมา

[รีวิว] Megalopolis – จดหมายทิ้งทวนจากผู้กำกับวัยเกษียณที่ยอมทุ่มสุดตัวเพื่อส่งสารแก่มวลประชา –

.

น่าสนใจตรงที่เมื่อผู้กำกับคอปโปล่าเป็นเจ้าของภาพยนตร์เรื่องนี้แบบ 100% สิ่งที่ปรากฏขึ้นบนจอก็ย่อมต้องเป็นวิสัยทัศน์ของเขาทั้งหมดด้วยเช่นกัน มีข่าวลือกระทั่งว่าคอปโปล่าไล่ทีมงานที่ไม่ยอมเห็นด้วยกับเขาออกจากโปรเจ็คไป การันตีถึงความเผด็จการเพื่อจะรักษาไอเดียดั้งเดิมของเขาไว้อย่างครบถ้วน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ Megaloporis กลายเป็นภาพยนตร์ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากกว่าจะเป็นทางบวก ทำไมภาพยนตร์ที่ผู้กำกับระดับตำนาน ผู้ที่ยอมทุ่มสุดชีวิตกับงานที่น่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเขากลับทำท่าว่าจะล้มเหลวซะแล้ว

[รีวิว] Megalopolis - จดหมายทิ้งทวนจากผู้กำกับวัยเกษียณที่ยอมทุ่มสุดตัวเพื่อส่งสารแก่มวลประชา -

[รีวิว] Megalopolis – จดหมายทิ้งทวนจากผู้กำกับวัยเกษียณที่ยอมทุ่มสุดตัวเพื่อส่งสารแก่มวลประชา –

.

เมื่อมีอิสระในการสร้างเต็มที่ Megalopolis จึงมีความเฉพาะตัวสูงมาก ซึ่งเป็นเรื่องดีถ้าความเฉพาะตัวนั้นมันสามารถเข้ากับผู้ชมได้ แต่ถ้ามันมากเกินไปจนใครต่อใครเข้าไม่ถึงมันก็จะเป็นเรื่องแย่ ซึ่งดูแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอย่างหลังมากกว่า เพราะ Megalopolis เต็มไปด้วยสิ่งที่ต้องใช้ความพยายามในการดูอย่างมากเพื่อเข้าถึงจินตนาการของผู้กำกับคอปโปล่า จึงไม่แปลกที่เสียงตอบรับจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะฉีกออกเป็นสองฝั่ง คือ ไม่รักก็เกลียดเลย

.

แม้จะเต็มไปด้วยสิ่งที่ยากจะเข้าถึง แต่ก็สัมผัสได้ว่างานชิ้นนี้ของผู้กำกับคอปโปล่า เป็นการกลั่นกรองมุมมองต่อโลกจากมุมมองของเขาเองตลอดชั่วชีวิตที่ผ่านมา เขาเริ่มลงมือเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งแต่หลังเสร็จงานเรื่อง Apocalypse Now ในปี ค.ศ. 1979 และปรับแก้บทไปมากกว่า 300 ครั้งแล้วกว่าจะเป็นบทภาพยนตร์ฉบับสมบูรณ์ที่ออกฉายให้ดูกัน จึงค่อนข้างมั่นใจได้เลยว่าสิ่งที่ถูกเล่าใน Megalopolis นั้นเป็นสิ่งที่ผ่านการกลั่นกรองแบบละเอียดจนปนเป็นผงแล้วจริงๆ (และถ้าล้มเหลวก็คงไม่ต้องโทษใครอื่น)

.

หลักใหญ่ใจความของ Megalopolis เป็นการพูดถึงการปะทะกันของคนสองรุ่น ฝ่ายคนรุ่นใหม่นำโดย ซีซาร์ คาทิลินา (Adam Driver) สถาปนิกนักออกแบบเมืองผู้มีความสามารถในการควบคุมเวลา ที่วาดฝันเมืองในอุดมคติอย่าง “Megalopolis” ในขณะที่ฝ่ายคนรุ่นเก่านำโดย แฟรงคลิน ซิเซโร (Giancarlo Esposito) นายกเทศมนตรีของเมือง “นิวโรม” ที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมโดยอ้างว่าผู้คนไม่ได้ต้องการเมืองใหม่แต่ต้องการแก้ปัญหาปากท้องเป็นสำคัญ และอีกหนึ่งตัวละครตัวแปรสำคัญอย่าง จูเลีย ซิเซโร (Nathalie Emmanuel) ลูกสาวของนายกเทศมนตรีแฟรงคลินที่มีใจให้กับซีซาร์เพราะอุดมการณ์ของเขาแต่ก็ต้องประนีประนอมให้กับแนวคิดของพ่อเช่นกัน

Adam Driver(ซ้าย) Nathalie Emmanuel(ขวา)

Giancarlo Esposito

.

ภาพรวมของ Megalopolis ออกไปในทาง political drama เห็นได้ชัดว่าตัวผู้กำกับคอปโปล่าได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ “การสมคบคิดแบบคาทิลิน่า” (The Catilinarian Conspiracy) ในช่วงปี 63 ปีก่อนคริสตกาล เป็นความพยายามก่อรัฐประหารโดยลูเซียส เซอร์จิอุส คาทิลินา เพื่อโค่นล้มกงสุลโรมันที่นำโดย มาร์คัส ทูลลิอัส ซิเซโร และยึดอำนาจการควบคุมรัฐแทนการใช้กำลัง จึงไม่แปลกที่ในเรื่องจะเต็มไปด้วยรูปปั้นที่โด่งดังจากยุคนี้ บรรดาสถาปัตยกรรม รวมถึงเครื่องแต่งกายของหลายตัวละครด้วย

.

แม้คาทิลินาจะมีความสามารถในการหยุดเวลา แต่อย่าหวังว่าจะได้เห็นเขาใช้ความสามารถนั้นประหนึ่ง จอมเวทย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “สตีเวน สเตรนจ์” ที่เปิดใช้ “มณีเวลา” ต่อสู้กับศัตรูอย่างเหนือชั้น กลับกันความสามารถที่ว่านี้ออกจะไปในทางอุปมาถึงใจความสำคัญของเรื่องซะมากกว่า วัสดุแห่งอนาคต “เมกาลอน” (Megalon) ที่เหมือนจะสำคัญก็ดูจะไม่มีบทบาทและที่มาที่ไปที่ชัดเจนนัก กลายเป็นว่าหากมองในแง่ของความเป็น Sci-fi ที่พรรณนาถึงโลกในอนาคต Megalopolis ก็ยังให้ภาพนั้นได้ไม่ตื่นตาเท่าไหร่ (แต่ดันไปตื่นตาที่ช่วงหลังตัวหนังมันฉีกแนวไปจนเกือบจะกลายเป็นหนังทดลองเลยด้วยซ้ำ)

.

ในภาพใหญ่ที่เป็นประเด็นเรื่องการปะทะกันมีความน่าสนใจอย่างที่บอก แต่ในภาพเล็กดูนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การดำเนินเรื่องของ Megalopolis ดูสะเปสะปะ ยุ่งเหยิงและมีเนื้อหาเยอะเกินไป โดยเฉพาะเรื่องราวของแต่ละตัวละครที่ทับซ้อนกันไปมา บางเส้นเรื่องดูน่าติดตาม เช่น ปัญหาชีวิตของคาทิลิน่าที่มีผลกระทบมาจากอดีต แต่อยู่ๆ หนังก็ตัดไปเล่าเรื่องอื่นหน้าตาเฉย แล้วก็ทิ้งประเด็นนี้ไปเลย ประเด็นความรักระหว่างคาทิลิน่าและจูเลียก็ดูฉาบฉวยจนประหลาด รวมถึงถ่านไฟเก่าอย่าง “ว้าว แพลตินัม” (Aubrey Plaza) ที่เหมือนดูละครน้ำเน่าหลังข่าวมากกว่า การเล่าเรื่องที่ค่อนข้างสะดุดในความรู้สึกนี้เป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้หนังเรื่องนี้ดูไม่สนุกหรือสนุกบ้างก็ตามแต่

Aubrey Plaza

.

เท่านั้นไม่พอความสะเปสะปะยังลามมาถึงบทสนทนาด้วย มีตั้งแต่บทสนทนาทั่วไป ไปจนถึงโต้เถียงกันในเชิงปรัชญา บางครั้งก็เจ้าบทเจ้ากลอนเจ้าคำคม บางทีก็แอบมีมุกตลกแทรกมาด้วย มันจึงทำให้ขาดความเป็นธรรมชาติ(ที่คงไม่ตั้งใจให้มีอยู่แล้ว) และที่น่าแปลกใจ คือ ตัวละครผู้ช่วยของคาทิลิน่า ที่แสดงโดย ลอว์เรนซ์ ฟิชเบิร์น (Laurence Fishburne) ได้กลายมาเป็นผู้บรรยายของเรื่องแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย แน่นอนว่าความเพี้ยนๆ ตรงนี้มันก็ส่งผลต่อการแสดงของนักแสดงในเรื่องด้วย ว่ากันว่าผู้กำกับคอปโปล่ามักให้นักแสดงด้นสดโดยไม่บอกอะไรอยู่บ่อยครั้ง ไม่แปลกใจที่ทั้งบทสนทนาและการแสดงมันจะไม่สอดคล้องกันตลอดทั้งเรื่องแบบนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นความจงใจหรือไม่

Laurence Fishburne

.

ทุนสร้าง 120 ล้านดอลลาร์ฯ จากกระเป๋าของคอปโปล่า แน่นอนว่ามันย่อมต้องเป็นการเนรมิตให้ Megalopolis กลายเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ อลังการงานสร้าง ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ความ Epic ส่วนใหญ่ที่เน้นศิลปะจากยุคโรมัน มันดูขัดหูขัดตามากกว่าจะสวยงาม และเดาทางไม่ถูกว่าผู้กำกับใส่มาเพื่อสื่อถึงอะไร หรือใส่มาเพราะแค่อยากใส่ให้เข้าธีม ซึ่งบางครั้งมันก็ให้อารมณ์เหมือนดูละครเวทีไปซะอย่างนั้น ยังไม่รวมแผลของงาน CGI หลายฉากที่ค่อนข้างน่าผิดหวังจากทุนสร้างระดับนี้ ทำให้หลายๆ ฉาก อย่างฉากบนตึกระฟ้าที่ดูสวยน่าตื่นตากับแสงอาทิตย์สีทอง พลอยแปดเปื้อนไปด้วย นี่ยังไม่รวมเทคนิคด้านภาพแปลกๆ ที่ชวนฉงนอีกหลายอย่าง

.

จึงน่าเสียดายที่ Megalopolis ซึ่งอุดมไปด้วยปรัชญาหลายอย่างที่น่าสนใจ ที่น่าจะกลั่นกรองจากประสบการทั้งชีวิตของคอปโปล่า และสื่อสารออกมาว่าเขาตกผลึกกับโลกนี้อย่างไรในวัย 85 ปี การอุปมาถึง “นิวโรม” ที่เอาคำว่านิวมานำหน้า แต่ทุกอย่างเสื่อมโทรมก็ดูเป็นการเสียดสีที่ดีไม่เบา หรือ มหานคร Megalopolis ที่เป็นดั่ง “ยูโทเปีย” ซึ่งคอปโปล่ามองว่าหากพวกเราจะสร้างมันขึ้นมาก็ต้องมีอะไรหลายอย่างเป็นปรัชญานำทาง ตลอดทั้งเรื่องจะเห็นว่าคอปโปล่ามองว่าปัญหาหลักมาจาก “อิสระ” ที่ยึดโยงกับ “เวลา” ดั่งที่คาทิลิน่าเผชิญ มันฉุดรั้งในระดับบุคคลไปยังระดับสังคม แม้เขาจะเสนอทางออกสุดท้ายให้เป็นคำตอบเชยๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันคงเป็นทางออกที่น่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุดแล้ว

.

ไม่น่าแปลกใจที่จะไม่มีสตูดิโอไหนกล้าซื้องานชิ้นนี้ เพราะสารของคอปโปล่านั้นลึกเกินจะเข้าใจ(ขาย)ได้ หนำซ้ำมันยังถูก “ปกปิด” ด้วยความโกลาหลหลายๆ อย่าง ที่ทำให้ทิศทางของหนังขาดความเฉียบคม ซึ่งมันคงจะเป็นข้อเสียมากกว่าคุณค่าของศิลปะ(ที่ต้องทำให้เข้าใจยากไว้ก่อน) เพราะถ้ามหานคร Megalopolis จะเป็นตัวแทนของผู้คน แต่ผู้คน(ผู้ชม)ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับมัน มันก็คงจะบอกว่าสำเร็จได้ยาก

.

และหากว่าในอนาคตสิ่งที่คอปโปล่าพูดไว้ในตอนนี้จะเป็นเรื่องจริง ก็คงจะบอกไม่ได้ว่าภาพยนตร์ที่ทุ่มสุดตัวของเขาเรื่องนี้ยอดเยี่ยมจนต้องคาราวะ เพราะแนวคิดพวกนี้ก็ไม่ได้เป็นอะไรที่ใหม่แต่อย่างใด กลับกันมันเป็นแนวคิดพื้นๆ ที่สามารถหาได้ตามนิยายวิทยาศาสตร์สมัครเล่นด้วยซ้ำ แต่ที่บอกได้แน่ๆ คือ วันนี้ Megalopolis เป็นงานที่ไม่ประสบความสำเร็จของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า แต่ในฐานะศิลปินเขาประสบความสำเร็จตั้งแต่ได้จารึกภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้ในโลกได้แล้ว

Story Decoder